สิ่งที่เหมือนและแตกต่างระหว่างพลังงานทดแทนกับพลังงานหมุนเวียน

สิ่งที่เหมือนและแตกต่าง ระหว่างพลังงานทดแทนกับพลังงานหมุนเวียน

คนที่ติดตามอ่านข่าวด้านพลังงาน อาจจะรู้สึกสับสนอยู่บ้าง ว่าตกลงกระทรวงพลังงาน จะเน้นการส่งเสริมอะไรกันแน่ ระหว่างพลังงานทดแทน ที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า Alternative Energy หรือว่าพลังงานหมุนเวียน ที่ใช้ว่า Renewable Energy หรือเรียกสั้นๆว่า RE ลองมาหาคำตอบกันดู

คำตอบก็คือกระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะส่งเสริมทั้งพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน นั่นแหละ โดยเลือกใช้คำว่าพลังงานทดแทน ในแผน เพื่อที่จะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นประเภทพลังงานที่จะมาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล (ก๊าซ น้ำมัน ถ่านหิน) ทั้งที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ความร้อน และเป็นเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง ซึ่งได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากขยะ ชีวมวล (ไบโอแมส ) ก๊าซชีวภาพ(ไบโอแก๊ส) พลังงานน้ำ ทั้งเขื่อนขนาดใหญ่และเขื่อนขนาดเล็ก พลังงานจากคลื่นในทะเล พลังงานจากความร้อนใต้พิภพ และเชื้อเพลิงชีวภาพ คือ เอทานอล ไบโอดีเซล ทั้งนี้ในมุมของต่างประเทศพลังงานทดแทนนั้นหมายรวมถึง พลังงานนิวเคลียร์ด้วย ส่วนของประเทศไทยนั้น พลังงานนิวเคลียร์ ยังไม่นำมารวมอยู่ในแผน AEDP

ที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน มีการจัดทำเป็นแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP2015) ที่ใช้ระหว่างปี2558-2579 โดยบูรณาการร่วมกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผนพีดีพี ซึ่งในแผนพีดีพีฉบับล่าสุด จะต้องมีการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในสัดส่วน20% ในปี2579 แต่หากคิดรวมในภาพรวมทั้งที่ใช้ผลิตเป็นไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง การส่งเสริมพลังงานทดแทนตามแผน AEDP2015 จะมีสัดส่วน 30 %ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2579 ซึ่งในส่วนนี้ นายกรัฐมนตรีของไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายที่จะให้เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เป็น40% และกรมพัฒนาพลังานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาศักยภาพพลังงานทดแทนรายภาคเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงแผนAEDP ให้สอดคล้องกับนโยบาย

ส่วนการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน หรือ RE นั้น ต้องการใช้สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึง พลังงานที่ใช้ไปแล้วไม่มีวันหมดสามารถหมุนเวียนกลับมาได้อีก โดยเฉพาะ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากขยะ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังน้ำที่เน้นเฉพาะเขื่อนขนาดเล็ก และส่วนใหญ่จะใช้ในเรื่องของการนำมาผลิตเป็นไฟฟ้า มากกว่าความร้อนหรือเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง

โดยในภาคการผลิตไฟฟ้า กระทรวงพลังงานมีนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีการใช้เชื้อเพลิงแบบผสมผสาน หรือที่เรียกว่า RE Hybrid เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีความเสถียร (Firm) มากขึ้น

ในแผนAEDP 2015นั้นตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเอาไว้ ภายในปี2579 พลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 6,000 เมกะวัตต์ ชีวมวล 5,570 เมกะวัตต์ พลังงานลม 3,002 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดใหญ่ 2,906 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดเล็ก 376 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพจาก(พืชพลังงาน) 680 เมกะวัตต์ และจากของเสีย น้ำเสีย 600 เมกะวัตต์ และจากขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม50 เมกะวัตต์

ข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระบุว่า ในปี2557 การใช้พลังงานทดแทน  ของประเทศไทย จะอยู่ในรูปของพลังงานความร้อนมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของการใช้พลังงานทดแทนทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ เชื้อเพลิงชีวภาพ และไฟฟ้า โดยในปี 2557 การใช้พลังงาน ความร้อนคิดเป็นร้อยละ 64 เชื้อเพลิงชีวภาพ และไฟฟ้า คิดเป็นร้อยละ 19.7 และ 16.3 ตามลำดับ

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน มีการวางยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทน เอาไว้ 3ด้าน  คือ1ยุทธศาสตร์ การเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบและเทคโนโลยีพลังงานทดแทน  โดยจะต้องมีการพัฒนาความสามารถในการผลิต บริหารจัดการวัตถุดิบ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม  2 ยุทธศาสตร์ การเพิ่มศักยภาพการผลิต การใช้ และตลาดพลังงานทดแทนและ3ยุทธศาสตร์ การสร้างจิตสำนึกและเข้าถึงองค์ความรู้ข้อเท็จจริงด้านพลังงานทดแทน

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ คงจะหายสงสัย วัตถุประสงค์ของการสื่อความกันแล้วว่า  เรื่องไหนควรจะใช้ พลังงานทดแทน และเรื่องไหนที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน 

ที่มา: http://www.energynewscenter.com/index.php/article/detail/89

Energy News Center หรือ ศูนย์ข่าวพลังงาน