รายละเอียดโครงการและทางเลือกการพัฒนาโครงการ
รายละเอียดโครงการ
เหตุผลความจำเป็นของโครงการ
ด้วยความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิสที่มีปริมาณลดลงจากการบริโภคในอัตราเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนอย่างจริงจังในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมซึ่งเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทน โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเขาค้อ เป็นโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้พิจารณารับซื้อไฟฟ้า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2551 โครงการผลิตไฟฟ้า โดยใช้กังหันลมที่มีแกนหมุนในแนวแกนนอน(Horizontal Axis Wind Turbine) ซึ่งจากการเก็บข้อมูลลมบริเวณโครงการฯ พบว่ามีความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 5-6เมตรต่อวินาที คาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 60 เมกะวัตต์ โดยโครงการตั้งอยู่ที่ ต.ทุ่งสมอ และ ต.เขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ห่างจากที่ว่าการ อ.เขาค้อ ประมาณ 10 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่ทั่วไปเป็นพื้นโล่งไม่มีสิ่งกีดขวางการพัดของลมอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ระดับความสูงมากกว่า 1,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลสำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงการได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์พื้นที่กับกรมป่าไม้เรียบร้อยแล้ว โดยเขตป่ามาตรา4(1) 196-0-0 ไร่ และ เขตป่าถาวร 254-2-0 ไร่ รวม 450-2-0 ไร่ โดยพื้นที่โครงทั้งหมดเป็นเขตป่าไม้ ผ่อนผันให้ชาวบ้านในพื้นที่ทำกิน โดยเป็นที่ดินใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม ปลูกพืชผักและพืชล้มลุก ซึ่งโครงการได้ขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่จากเกษตรกรที่ครอบครองทำไร่ บริเวณจุดตั้งกังหันลม โดยจ่ายค่าชดเชย ในด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่ ส่วนแนวสายส่งได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์และมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการปักเสาพาดสายได้ในการพัฒนาการผลิตกระแสไฟฟ้าบริเวณพื้นที่โครงการจะประกอบด้วยจุดติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 24 จุด ใช้พื้นที่ในระหว่างการก่อสร้างประมาณ 1 - 5 ไร่ต่อต้น และเมื่อสร้างเสร็จแล้วใช้พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ต่อกังหันลม 1 ต้น โดยขั้นตอนของระบบจ่ายไฟฟ้าเริ่มจากกังหันลมจำนวน 24 ต้น ผลิตกระแสไฟฟ้าที่ระดับ
แรงดัน 690 โวลต์ แล้วส่งไปยังหม้อแปลง (Transformer) ของกังหันลมแต่ละต้น ทำการแปลงแรงดันกระแสไฟฟ้าเป็นที่ระดับแรงดัน 22 กิโลโวลต์ แล้วส่งผ่านระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน (Underground Cable) ภายในโครงการ เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าจากการผลิตไปยัง สถานีไฟฟ้าย่อยของโครงการ (Substation) ทำหน้าที่แปลงแรงดันกระแสไฟฟ้า จากระดับแรงดันไฟฟ้า 22 กิโลโวลต์ เป็นระดับแรงดันไฟฟ้า 115 กิโลโวลต์จากนั้นจึงส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งโดยเริ่มตั้งแต่ Tower “SA” ที่บริเวณเชิงเขาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านเพชรดำ ไปยัง Tower “SB”ที่บริเวณเชิงเขาทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านเพชรดำ และ Tower “SC” ที่บริเวณเชิงเขาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านเพชรดำ ซึ่งเป็นระบบสายส่งแบบ Fly over จากนั้นวางแนวสายส่งตามแนวถนนหมู่บ้านไปยังหมู่บ้านเพชรดำ และไปตามแนวถนนทางหลวงหมายเลข 2305 จากหมู่บ้านเพชรดำ ผ่านแยกบ้านทุ่งสมอ แล้วไปตามแนวถนนทางหลวงหมายเลข 2196 ไปถึงแยกแคมป์สน แล้ววางแนวสายส่งไปตามแนวถนนหมายเลข 12 ไปถึงแยกพ่อขุนผาเมือง เข้าทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านหน้าสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอหล่มสัก จากนั้นวางระบบไฟฟ้าใต้ดินตามแนวถนนทางหลวงหมายเลข 21 เชื่อมต่อเข้ากับสถานีไฟฟ้าแรงสูงหล่มสักของ กฟผ. รวมระยะทาง 44.76 กิโลเมตร
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1) เพื่อรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าจาก โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเขาค้อ เข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชน
2) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานทดแทนที่สะอาด
3) เพื่อจัดเตรียมกระแสไฟฟ้าในการรองรับการพัฒนาและการขยายตัวของชุมชนและป้องกันการขาดแคลนไฟฟ้าในอนาคต
4) เพื่อลดภาระต้นทุนการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของภาครัฐ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบพลังงานของประเทศ